การฝึกเหนี่ยวไกจะเรียกว่า dry fire. คือการยิงแบบไม่มีกระสุน ซึ่งปืนอัดลมแข่งขันทุกกระบอกจะสามารถปรับเป็นโหมดนี้ได้ การเหนี่ยวไกเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ เรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่ปวดหัวเรื่องหนึ่งของนักกีฬายิงปืนอัดลมระบบสากล. เพราะว่าการเหนี่ยวไกไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้านักกีฬาไม่ได้ฝึกฝน าอย่างเพียงพอ มันจะส่งผลเสียต่อความแม่นยำในการยิง
Photo by Issf-sports.org
กลับมาเรื่องที่ว่าทำไมการเหนี่ยวไกจึงสำคัญ ผมจะขอยกตัวอย่างง่ายๆคือ ถ้าผู้ยิงเหนี่ยวไกแบบกระชากไกปืน. จะทำให้กลุ่มกระสุนกระจายไม่เป็นกลุ่มและขาดความแม่นยำ อีกกรณีคือถ้าผู้ยิงไม่ยอมออกแรงเหนี่ยวไกด้วยนิ้วเลย จะส่งผลให้ผู้ยิงต้องถือปืนนานจนรบกวนคุณภาพการเล็ง เพราะว่าปืนจะเริ่มสั่น สายตาจะล้าและสมาธิจะลดลง สุดท้ายก็จะตัดสินใจยิงด้วยจังหวะที่ไม่ดี และที่พบบ่อยที่สุดคือการยิงแบบบีบทั้งมือ โดยออกแรงทุกนิ้วรวมถึงนิ้วชี้ด้วย ก็จะส่งผลเสียต่อความแม่นยำ ดังนั้นต้องฝึกควมคุมจังหวะไกด้วยนิ้วชี้นิ้วเดียวให้ชัดเจน. การฝึกการฝึกเหนี่ยวไกจึงเป็นสิ่งจำเป็นมากๆสำหรับนักยิงปืน ต้องคอยฝึกฝนและทบทวนเทคนิคการเหนี่ยวไกอยู่เสมอ
Photo by Issf-sports.org
เทคนิคการเหนี่ยวไกจะมีหลากหลายวิธี นักกีฬาบางคนจะชอบเริ่มต้นเดินไกจากตำแหน่งด้านบนของเป้า คือก่อนถึงวงดำจากด้านบนลงมา โดยจะเริ่มเพิ่มน้ำหนักนิ้วชี้ไปเรื่อยๆช้าๆ ในขณะที่ปืนลดลงมาสู่ตำแหน่งที่ต้องการ. แล้วจึงลั่นไกออกไปพอดี บางเทคนิคก็จะจัดภาพการเล็งให้เรียบร้อยก่อน คืออยู่ในตำแหน่งที่ต้องการแล้วเพิ่มน้ำหนักการเหนี่ยวไกครั้งเดียวจนลั่น อีกเทคนิคผู้ยิงจะดึงไกมารอไว้ก่อน และค่อยเพิ่มน้ำหนักไกในจังหวะที่สองให้ลั่นออกไป ดังนั้นไม่ว่าจะเทคนิคไหนก็ตาม ก็ต้องฝึกฝนทบทวนจังหวะการเหนี่ยวไกให้มากๆ ยิ่งฝึกทบทวนมากเท่าไหร่ก็จะเป็นผลดีกับนักกีฬา เพราะมันจะทำให้สมองได้จดจำท่าทางและจังหวะ
ตัวอย่างการฝึกเรื่องเหนี่ยวไก นักกีฬาสามารถฝึกที่บ้านได้ ฝึกโดยยกปืนเล็งกับกำแพงบ้าน. จะใช้เป้าหรือไม่ต้องใช้เป้าก็ได้ โดยให้เล็งไปที่กำแพงบ้านหรือเป้า ไม่ต้องใส่กระสุนอัดลม จากนั้นก็ฝึกการเดินไกตามที่เรียนมา อีกตัวอย่างการฝึกที่ดีคือการหลับตาหรือปิดไฟห้องให้มืด แล้วฝึกเหนี่ยวไก เพราะว่าเมื่อเราไม่ใช้ตาในการเล็งภาพ สมาธิในการเรียนรู้เรื่องการเหนี่ยวไกจะสูงกว่าปกติ ระบบประสาทและสัมผัสจะตื่นตัว จึงง่ายที่จะเรียนรู้และจดจำจังหวะ ระยะเวลาของการฝึกประมาณ30นาที จนถึง1ชั่วโมง
สรุปเมื่อนักกีฬาได้ฝึกทบทวนบ่อยๆ จะส่งผลให้สมองสามารถจดจำจังหวะและน้ำหนักการลากไก เมื่อสมองจดจำได้แม่นยำก็จะส่งผลให้กล้ามเนื้อเกิดการตอบสนองได้ไวและราบรื่นสอดคล้องกับภาพการเล็ง